นายเธียรชัย ณ นคร ประธานกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เปิดเผยว่า พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ PDPA ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.ย.65 นั้น โดยหลักการแล้วเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่า ข้อมูลส่วนบุคคลจะถูกนำไปใช้อย่างเป็นธรรมและโปร่งใส และได้รับการดูแลไม่ให้นำไปใช้ในทางที่ผิด การบังคับใช้กฎหมายจะเป็นแนวทางให้ภาครัฐและภาคธุรกิจไทยมีมาตรฐานการใช้ข้อมูลให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
“กรณีสังคมโซเชียลมีการแชร์ข้อมูลห้ามประชาชนถ่ายรูปติดคนอื่นหรือห้ามติดวงจรปิดที่อาจบันทึกภาพคนอื่น กฎหมาย PDPA ไม่ได้ครอบคลุม กรณีการนำข้อมูลไปใช้เป็นการส่วนตัวหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ สถานการณ์แบบนี้จึงไม่ถือเป็นความผิด อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า หากนำข้อมูลคนอื่นไปใช้แล้วก่อให้เกิดความเสียหาย เช่น กรณีหมิ่นประมาทถือว่าเป็นความผิดทางอาญา หรือ ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงเป็นความผิดทางแพ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีมานานแล้ว” นายเธียรชัยกล่าว
ขณะที่ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กล่าวชี้แจงว่า กฎหมายมีเจตนารมณ์คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไม่ให้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ และป้องกันแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดสิทธิ ที่ประชาชนอาจเกิดความวิตกกังวล จากข้อความที่คลาดเคลื่อนทางสื่อออนไลน์จำนวนมาก ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนเข้าใจผิดต่อกฎหมาย จึงขอประชาสัมพันธ์ในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวดังต่อไปนี้
1.การถ่ายภาพหรือคลิปวิดีโอที่ติดภาพของบุคคลอื่นโดยไม่เจตนา และไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย หากใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว สามารถทำได้ 2.การโพสต์ภาพหรือคลิปวิดีโอที่ติดภาพของบุคคลอื่นในสื่อออนไลน์หากไม่แสวงหากำไรทางการค้าและไม่เกิดความเสียหาย สามารถทำได้ 3.การติดกล้องวงจรปิดภายในบ้าน เพื่อรักษาความปลอดภัย 4.การนำข้อมูลไปใช้ ที่ไม่จำเป็นต้องขอความยินยอมก่อน ดังเช่น ถ้าเป็นไปตามสัญญา, กฎหมายให้อำนาจ, เพื่อค้นคว้าวิจัย, เพื่อประโยชน์สาธารณะ, เพื่อปกป้องสิทธิของตน เป็นต้น
เนื่องจากเป็นกฎหมายใหม่ เพิ่งบังคับใช้ อาจมีการประชาสัมพันธ์รายละเอียด ข้อปฏิบัติเพิ่มเติมในโอกาสต่อไป
หากสงสัยสามารถติดตามข่าวสารหรือสอบถามได้ทางเพจเฟซบุ๊ก PDPC Thailand.