15 ก.พ.64 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานสถานการณ์ในเมียนมาหลังกองทัพทำรัฐประหารยึดอำนาจ (1 ก.พ.) ว่า การชุมนุมประท้วงในนครย่างกุ้งซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศมีผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารลดน้อยลง มีผู้ประท้วงราว 1,000 คน ชุมนุมอยู่นอกธนาคารกลางของเมียนมาหลังจากกองทัพนำรถถังและทหารจำนวนมากออกมาตรวจตราตามท้องถนนเพื่อช่วยเหลือตำรวจในการดูแลควบคุมฝูงชน การที่มีผู้ชุมนุมน้อยลงนั้นไม่ชัดเจนว่าเป็นเพราะถูกข่มขู่โดยทหารหรือความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมต่อเนื่องติดต่อกัน
การชุมนุมประท้วงในเมียนมาได้มี แพทย์ พยาบาล ข้าราชการ พนักงานห้างร้าน มวลชนคนรุ่นใหม่ นัดหยุดงานประท้วงเพิ่มมากขึ้นในลักษณะของอารยะขัดขืน ชนกลุ่มน้อยก็ได้มีการเคลื่อนไหวตอบโต้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ท้าทายอำนาจท็อปบูต ที่ให้อำนาจตำรวจจับกุมตัวผู้ชุมนุมได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล
ด้านกองทัพเมียนมาได้แสดงถึงความชอบธรรมในการทำรัฐประหารโดยอ้างถึง อนุมาตราในรัฐธรรมนูญ ปี 2551 ที่ระบุว่า ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินระดับชาติ อำนาจนิติบัญญัติ และตุลาการของของรัฐบาลสามารถมอบให้กับผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของหลายส่วนของกฎบัตรที่รับรองว่ากองทัพสามมารถรักษาการควบคุมสูงสุดของประเทศที่ปกครองเป็นเวลา 50 ปี
ขณะที่รัฐบาลจากนานาชาติยังคงกดดันกองทัพเมียนมาอย่างต่อเนื่อง ทูตจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา และ 12 ชาติในยุโรปได้เรียกร้องให้กองกำลังความมั่นคงของเมียนมาละเว้นการใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่ประท้วงการล้มล้างรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายและยังประณามการจับกุมผู้นำทางการเมืองและนักเคลื่อนไหว ตลอดจนการแทรกแซงการควบคุมการสื่อสารของกองทัพ โดยระบุว่า
นานาชาติสนับสนุน “ชาวเมียนมา” ในการแสวงหา “ประชาธิปไตย เสรีภาพ สันติภาพ และความมั่งคั่ง”.