5 ม.ค.64 น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายเศรษฐกิจมหภาค และ น.ส.ภาวิดี จิตต์มงคลเสมอ ผู้อำนวยการฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมกันชี้แจงแนวทางการปรับปรุงระบบนิเวศน์ของระบบอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อลดการแข็งค่าของเงินบาท ณ ห้องแถลงข่าว อาคาร 2 ชั้น 1
ค่าเงินบาทที่พบว่า “แข็งเร็ว แข็งนาน และ แข็งนำ” กว่าสกุลอื่นนั้น สาเหตุมาจาก ปัญหาของโครงสร้าง 4 ประการด้วยกัน คือ 1.ปัญหาการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องมากกว่า 5 ปี โดยเกินดุล 8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จากรายได้จากการส่งออกมากกว่าการนำเข้า รวมทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลไทยลงทุนน้อย ทำให้มีการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์น้อย นักลงทุนไทยยังไม่มีความมั่นใจในการออกไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศเท่าที่ควร
2.ปัญหาผู้ส่งออกและนำเข้าของไทยจำนวนมากยังไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะรายย่อย พบว่าผู้ส่งออกมีการทำป้องกันความเสี่ยงเพียง 19% ขณะที่ผู้นำเข้ามีการทำป้องกันความเสี่ยงเพียง 24% เท่านั้น 3.ปัญหาต้นทุนค่าใช้จ่ายการทำธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยนและการป้องกันความเสี่ยงยังสูงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ และ 4.ปัญหาการซื้อขายเงินบาทของไทยได้รับอิทธิพลจากปัจจัยในต่างประเทศมากกว่าในประเทศ เพราะการซื้อขายเงินบาทยังอยู่ในตลาดเงินบาทในต่างประเทศประมาณ 60% และเป็นการซื้อขายในตลาดในประเทศเพียง 40%
แนวทางแก้ไข ช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้ออก 3 มาตรการดูแลค่าเงินบาท คือ 1.การเปิดให้คนไทยมีบัญชีเงินฝากที่เป็นเงินตราต่างประเทศโดยไม่จำกัดวงเงิน เปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยออกไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศง่ายขึ้น 2.ลดเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคการไหลออกของเงินต่างประเทศและเปิดโอกาสให้มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาแข่งขันในตลาดมากขึ้น 3.ให้นักลงทุนต่างชาติเปิดเผยตัวตนก่อนการซื้อพันธบัตรไทย และให้เข้ามาซื้อขายในตลาดในประเทศมากขึ้น
สิ่งที่จะดำเนินการต่อไป ธปท.จะได้ติดตามตลาดเงินบาทอย่างใกล้ชิดทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งหากจะมีการออกมาตรการระยะสั้นจะต้องตรงจุดและเหมาะสมกับจังหวะเวลาจริงๆ หากมีความจำเป็นจะประกาศให้ทราบต่อไป
คำชี้แจงของ ธปท.ข้างต้น น่าจะทำให้คนไทยเข้าใจเรื่องของค่าเงินบาทได้ดีขึ้น.